
“วิกฤติโควิด-19” ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราในหลายๆด้าน เช่น การใช้ชีวิต หรือแม้แต่ชีวิตการทำงานของเรา ซึ่งหลายคนก็ประสบปัญหาถูกเลิกจ้างบ้าง กิจการปิดตัวลงบ้าง จนส่งผลกระทบมายังเงินในกระเป๋าของเรา ซึ่งตอนนี้หลายคนคงต้องบอกตัวเองว่าอะไรที่ช่วยลดรายจ่ายในสภาวะวิกฤติแบบนี้ได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งตอนนี้สถาบันการเงินน้อยใหญ่ต่างออก “มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้” ไม่ว่าจะเป็น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อเช่าซื้อ และอื่นๆ โดยแต่ละสถาบันการเงินก็มีรูปแบบการช่วยเหลือที่แตกต่างกัน และมักใช้คำศัพท์ทางการเงินที่ชาวบ้านอย่างเราๆอาจฟังแล้วงง ไม่รู้ว่าแบบไหนเหมาะกับเราดี วันนี้ DW24 จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับคำศัพท์ที่เกี่ยวกับมาตรการเหล่านี้กัน

มาตรการพักชำระหนี้
เข้าใจง่ายๆคือ ไม่ต้องจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยใดใดในช่วงที่กำหนด แต่เอาดอกเบี้ยในระยะที่กำหนดนั้นเก็บมาชำระในภายหลังนั้นเอง เรียกง่ายๆคือ ไม่จ่ายแต่ดอกเบี้ยเดินนั่นเอง
เช่น ธนาคาร A มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้านให้พักชำระหนี้ได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน ถ้าเราเข้าร่วมมาตรการนี้ในช่วง 3 เดือนหลังเข้าร่วมมาตรการนี้เราจะไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยให้แก่ธนาคาร A เลย แต่เมื่อเข้าเดือนที่ 4 หลังมาตรการนี้เราจะต้องจ่ายเงินค่างวดในอัตราปกติ บวกด้วยค่าดอกเบี้ยในช่วง 3 เดือนที่ได้รับมาตรการช่วยเหลือ พูดให้ง่ายคือในเดือนหลังหมดมาตรการช่วยเหลือเราต้องจ่ายค่างวดเดิม+ดอกเบี้ย 3 เดือนที่หยุดจ่ายนั่นเอง

มาตรการพักหนี้
คือการที่เราไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วงที่มาตรการนี้กำหนด และจะไม่ถูกคิดดอกเบี้ยใดใดในช่วงนี้ โดยเมื่อพ้นช่วงเวลาที่มาตรการมีผล เราก็จะกลับมาจ่ายค่างวดเช่นเดิม แต่วิธีนี้ก็จะทำให้ระยะเวลาในการผ่อนนั้นยาวออกไปอีก
เช่น ธนาคาร B มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้านให้พักหนี้ได้เป็นระยะเวลา 3 เดือนโดยเริ่มเดือนเมษายน ถึงมิถุนายน ถ้าเราเข้าร่วมมาตรการนี้ในช่วง 3 เดือนดังกล่าว เราจะไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยให้แก่ธนาคาร B เลย พอเข้าเดือนกรกฎาคมเราค่อยกลับมาจ่ายค่างวดปกติ โดยระบบของธนาคารจะข้าม 3 เดือนของมาตรการนี้ไปเลย หากเราจ่ายค่างวดเดือนมีนาคมเป็นงวดที่ 15 ค่างวดในเดือนกรกฎาคม ก็จะกลายเป็นค่างวดที่ 16 นั่นเอง

มาตรการพักชำระเงินต้น
ชื่อของมาตรการก็ชัดเจนนะครับคือพักชำระแค่เงินต้น แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตามปกติ ซึ่งมาตรการนี้ไม่ได้มีผลดีในแง่ของมูลค่าหนี้ แต่มีผลดีต่อยอดเงินในหน่วยบาทของลูกหนี้เท่านั้น
เช่น ธนาคาร C มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการพักชำระเงินต้นเป็นระยะเวลา 3 เดือน แปลว่าใน 3 เดือนที่อยู่ในมาตรการถ้าค่างวด 20,000 บาทของเราเป็นดอกเบี้ย 8,000 บาท เราก็ต้องชำระดอกเบี้ยทุกเดือน และพอหมดมาตรการนี้ก็กลับมาจ่าย 20,000 บาทเท่าเดิม ซึ่งในช่วงที่เราเข้าร่วมมาตรการนี้มูลหนี้เราไม่ได้ลดลงเลยเพราะเราจ่ายแต่ดอกเบี้ย ซึ่งถูกคิดจากเงินต้นเท่าเดิมมาตลอด 3 เดือน ดังนั้นพอเข้าเดือนปกติหลังมาตรการเราก็ต้องชำระเสมือนงวดที่ได้รับความช่วยเหลือนั่นเอง แต่ลูกหนี้อย่างเราอาจได้ประโยชน์ตรงที่จำนวนเงินมีหน่วยบาทที่จ่ายลดลง จากตัวอย่างแทนที่จะต้องจ่ายเดือนละ 20,000 บาท ก็จ่ายแค่ 8,000 บาทเท่านั้นเอง

ไม่ว่าจะมาตรการใดก็ตาม หากเรามีความสามารถในการผ่อนชำระได้อยู่ก็ควรผ่อนชำระในอัตราปกติจะถือว่าดีที่สุด เพราะการลดภาระที่แท้จริงก็คือการลดหนี้นั่นเอง แต่หากมีความจำเป็นจริงๆที่ต้องรับความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆในข้างต้นแล้ว ก็ขอให้พิจารณาเลือกมาตรการที่เหมาะสมกับตัวเอง และความจำเป็นให้มากที่สุด จึงจะเป็นผลดีที่สุดนะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/

พักอะไรก็พักได้ แต่อย่าลืมหาความรู้เพิ่มเติมกับ DW24 ผ่านช่องทางดังนี้
Website: www.dwarrant24.com
Line: @DW24 >> https://lin.ee/zGyIRGe
Facebook : Dwarrant24 >> https://www.facebook.com/Dwarrant24/
Intragram : dwarrant24 >>https://www.instagram.com/dwarrant24/?hl=th
กลุ่ม Open Chat DW24 >> https://line.me/ti/g2/mMMCqkLA8jf1I-bwKAwIbw
Post Views: 5,097