fbpx

ครบรอบ 1 ปี สงครามรัสเซีย-ยูเครน เกิดอะไรขึ้นบ้าง?

February 24, 2023

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ข่าวใหญ่ที่ทั่วโลกจับจ้องกันก็คือ ประเทศรัสเซียที่นำโดย วลาดีมีร์ ปูติน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้ประกาศสงครามกับทางยูเครนที่มีผู้นำคือ โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ทำให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างมาก วันนี้เราจะมาย้อนรอยกันว่า 1 ปีที่ผ่านมาเกิดผลกระทบอะไรขึ้นมาบ้าง แต่ถ้าใครยังไม่ทราบถึงจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์นี้สามารถย้อนกลับไปอ่านกันได้ที่ วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน เริ่มต้นมาอย่างไร?

ตลาดหุ้นดิ่ง

การประกาศสงครามของรัสเซียในครั้งนี้ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดการปรับตัวลงอย่างมากและเป็นจุดเปลี่ยนทิศทางในตลาดหุ้นและการลงทุนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะหลังจากที่รัสเซียประกาศสงครามในครั้งนี้ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยเกินการปรับตัวลงอย่างมากและมาพร้อมกับความผันผวนดังภาพตัวอย่าง

SET Index หลังสงคราม

จากภาพข้างต้นเป็นราคาปิดย้อนหลังของดัชนี SET ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 นับตั้งแต่การเกิดสงครามรัสเซียยูเครนขึ้น จนถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 จะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นไทยเกิดความผันผวนเป็นอย่างมาก ซึ่งหากนับจุดต่ำสุดที่ดัชนีได้ลงไปถึงคือบริเวณ 1517.51 จุด ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 หรือ (-11.20% เทียบจากจุดสูงสุดหลังเกิดสงคราม) ก่อนที่จะมีการปรับตัวขึ้นอีกครั้งในต้นปี 2566 ที่ผ่านมาซึ่งดัชนีได้ปรับตัวขึ้นอีกครั้งทำจุดสูงสุดที่ 1695.99 จุด

สงครามในครั้งนี้ไม่เพียงแต่หุ้นไทยที่ได้รับผลกระทบแต่ตลาดหุ้นทั่วโลกได้เกิดการปรับฐานเช่นกันไม่ว่าจะเป็น

Dow Jones Index ที่ได้เกิดการปรับตัวลงไปที่บริเวณ 28,660.94 จุด จากก่อนหน้าเคยขึ้นไปถึงบริเวณ 35,492.22 จุด หรือปรับตัว -19.25% ภายในปี 2565

Hang Seng Index ที่ปรับตัว -37.56% ระหว่าง 1 ปี หลังสงคราม

ราคาน้ำมันพุ่ง

ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็คือ ราคาน้ำมันดิบได้มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากการที่รัสเซียได้ถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติทั้งยุโรป สหรัฐ และประเทศอื่นๆ อีกมากจากการที่รัสเซียประกาศสงครามกับยูเครน อย่างไรก็ตามรัสเซียได้ตอบโต้กับมาตรการคว่ำบาตรนี้โดยระงับการส่งออกน้ำมันดิบไปยังประเทศต่างๆ ที่ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียพร้อมทั้งเปลี่ยนสกุลเงินในการชำระราคาจากดอลลาร์สหรัฐฯเป็นสกุลเงินรูเบิลเท่านั้น

นี่เองจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นแทบจะในทันทีเพราะปริมาณน้ำมันดิบในระบบเกิดการหายไปทำให้ความต้องการมีมากกว่าปริมาณที่มีอยู่ในตลาดขณะนั้น

ราคาน้ำมันช่วงสงคราม

จากกราฟราคาน้ำมันดิบ WTI ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 129.42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือปรับตัวขึ้นกว่า 43.8% เทียบกับก่อนช่วงสงคราม และเหตุนี้เองเป็นที่มาของผลกระทบถัดไปที่เราจะพูดถึงกัน

เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

ผลกระทบที่เกิดขึ้นและทุกคนในโลกนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้หลังจากภาวะสงครามก็คือราคาสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากความขาดแคลนไม่ว่าจากมาตรการคว่ำบาตร ไปจนถึงกำลังการผลิตลดน้อยลงหรือความต้องการกักตุนสินค้าที่มีความจำเป็นเพิ่มสูงขึ้น และต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมา ระยะสั้นและระยะกลางเกิดเป็นเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก

หากประเทศไหนระบบเศรษฐกิจไม่แข็งแกร่งอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการล้มทางเศรษฐกิจสูงมาก ยกตัวอย่างประเทศที่เกิดเงินเฟ้อสูงมากจนกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในประเทศ ได้แก่ ประเทศตุรกี เงินเฟ้อภายในประเทศอยู่ที่ 78.62% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 24 ปี

โดยเฉลี่ยเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น 5-10%  YoY รวมถึงประเทศไทยเช่นกัน ดังนั้นแต่ละประเทศจำเป็นต้องออกมาตการมาเพื่อยับยั้งเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นให้สู่ภาวะปกติโดยเร็ว ประกอบกับปัจจัยบวกที่เข้ามาช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังจากทั่วโลกทยอยกลับมาเปิดประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19

ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกดเงินเฟ้อ

ภายหลังสงครามที่เกิดขึ้นไม่กี่เดือนเงินเฟ้อมีการพุ่งสูงขึ้นในรอบหลายปี ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องออกมาตรการทางการเงินมายับยั้งเงินเฟ้อนั่นก็คือการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งก่อนหน้าในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด 19 มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือประชาชนจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังไม่ทันจบลงก็ถูกซ้ำเติมจากเงินเฟ้อที่ขึ้นสูงทำให้มีความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ทำให้นักลงทุนทั่วโลกมีความกังวลว่าการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและแรงเพื่อกดเงินเฟ้อให้อยู่หมัดจะเป็นสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต สุดท้ายแล้วตลาดหุ้นจึงถูกแรงเทขายเข้ามาเป็นระลอกจากการที่แต่ละประเทศแข่งกันประกาศขึ้นดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมีสติและติดตามข่าวสารอย่างรอบคอบ เพราะการตื่นตกใจไปก่อนเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่ผลดีต่อการลงทุนของเรา อีกทั้งเราควรมองหาเครื่องทางการเงินที่ช่วยบริหารความเสี่ยงในจังหวะที่ตลาดหุ้นเกิดการปรับตัวลงอย่างมากเช่น DW หรือการขาย Short หุ้นก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงในช่วงขาลงของตลาดหุ้น