fbpx

หุ้นแม่ขึ้น Corporate Action จะส่งผลต่อ DW ยังไงนะ?

April 22, 2022

เริ่มจากความหมายของ CA แต่ละตัวที่เราคุ้นชิน

XD (Excluding Dividend) : ผู้ซื้อไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล

XM (Excluding Meetings) : ผู้ซื้อไม่มีสิทธิเข้าประชุมผู้ถือหุ้น

XR (Excluding Right) : ผู้ซื้อไม่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่

XW (Excluding Warrant) : ผู้ซื้อไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหลักทรัพย์

XB (Excluding Other Benefit) : ผู้ซื้อไม่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่ ในกรณีต่อไปนี้

สิทธิจองซื้อหุ้นบุริมสิทธิ ที่จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญ

สิทธิจองซื้อหุ้นสามัญ ที่จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ

สิทธิในการจองซื้อหลักทรัพย์ที่เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท

สิทธิในการจองซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทในเครือ

*หากนักลงทุนได้ทำการซื้อและถือข้ามวันขึ้นเครื่องหมายจะได้รับสิทธิดังกล่าว

(ที่มา SET)

 

ถ้าซื้อหุ้นจะได้รับสิทธิประโยชน์แล้วถ้าซื้อ DW จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้วยมั้ย?

เบื้องต้นต้องแบ่งสิทธิประโยชน์ออกเป็น 2 ประเภท

  1. สิทธิประโยชน์ที่ส่งผลต่อราคาหรือจำนวนหุ้นแม่ที่จดทะเบียนในตลาดฯ หมายถึง สิทธิประโยชน์เป็นตัวเงินหรือเป็นตัวหุ้นที่จะส่งผลต่อราคาหุ้นหลังจากขึ้นเครื่องหมาย ได้แก่

XD (จ่ายเงินปันผล / จ่ายหุ้นปันผล) ทางผู้ออกจะมีการปรับสิทธิให้นักลงทุนที่ถือ DW เสมือนว่านักลงทุนจะได้ปันผลเช่นเดียวกับถือหุ้น คือ ตามทั่วไปแล้วหากหุ้นมีการขึ้น XD จ่ายปันผล ราคาหุ้นในวันถัดไปมักจะลดลงมูลค่าเท่ากับปันผล ดังนั้นผู้ออกจะปรับสิทธิให้เท่ากับจำนวนปันผลคือเมื่อราคาหุ้นแม่ในวันถัดไปลดลงเท่ากับปันผล ราคาCall Put DW จะยังคงเท่าเดิม

 

XW (ออก Warrant) กรณีนี้ จะแตกต่างจากกรณี XD เล็กน้อย คือผู้ออกอาจตัดสินใจไม่ปรับสิทธิของ DW โดยปกติการปรับ หรือไม่ปรับสิทธิ ผู้ออกจะพิจารณาจากราคาใช้สิทธิของ Warrant ที่จะแจก ว่าราคาเป็นเท่าไหร่ ถ้าราคาใช้สิทธิออกมาต่ำกว่าราคาหุ้นในขณะนั้นมากๆ จะทำให้ Warrant อยู่ในสถานะ In the money ผู้ออกก็จะคาดการณ์ได้ว่า มีโอกาสสูงที่ผู้ถือ Warrant จะใช้สิทธิในการแปลง ซึ่งจะทำให้เกิด Dilution Effect ตามมา ดังนั้นผู้ออกจึงต้อง “ทำการปรับสิทธิ DW” ในกรณีนี้ ในทางตรงกันข้ามหากราคาใช้สิทธิออกมาสูงกว่าราคาบนกระดาน ก็คงไม่มีนักลงทุนท่านไหนนำไปแปลงสภาพ warrant ก็จะอยู่ในสถานะ Out of the money และไม่เกิด Dilution Effect ทำให้ผู้ออก “ไม่ต้องทำการปรับสิทธิ DW” นั่นเอง

 

XR (สิทธิจองหุ้นเพิ่มทุน) โดยทั่วไปแล้วหากราคาหุ้นเพิ่มทุนต่ำกว่าราคาปัจจุบันผู้ออกจะทำการปรับสิทธิ DW ให้นักลงทุนเนื่องจากทางผู้ออกจะใช้สิทธิที่ราคาเพิ่มทุนดังกล่าว แต่ถ้าหากราคาหุ้นเพิ่มทุนสูงกว่าราคาปัจจุบันผู้ออกอาจจะไม่ปรับสิทธิ DW เนื่องจากทางผู้ออกจะไม่ใช้สิทธิเพิ่มทุนดังกล่าวเช่นเดียวกัน

 

  1. สิทธิประโยชน์ที่ไม่ส่งผลต่อราคาหรือจำนวนหุ้นแม่ที่จดทะเบียนในตลาดฯ หมายถึง สิทธิประโยชน์ที่เป็นการเข้าร่วมหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ได้มีผลเป็นจำนวนเงินหรือหุ้นดังกล่าว ได้แก่

XM (การประชุมผู้ถือหุ้น) ทางผู้ออกจะไม่ทำการปรับสิทธิ DW เนื่องจากการประชุมผู้ถือหุ้นไม่ได้มีผลหรือประโยชน์ใดๆต่อราคาหุ้นดังนั้นการที่ขึ้นเครื่องหมายดังกล่าวจะไม่ส่งผลใดๆต่อราคา DW

 

XB (จองซื้อหุ้น IPO หรือหุ้นบริษัทในเครือ) ทางผู้ออกจะไม่ทำการปรับสิทธิ DW เช่นเดียวกับการขึ้นเครื่องหมาย XM เนื่องจากการจองซื้อหุ้น IPO หรือหุ้นบริษัทในเครือ ไม่ส่งต่อราคาหุ้นแม่

 

ระหว่าง XR กับ XB จองซื้อหุ้นเหมือนกันแต่ทำไมปรับสิทธิต่างกัน?

นักลงทุนอาจจะมีข้อสงสัยว่าได้สิทธิจองซื้อหุ้นใหม่เหมือนกันแต่ทำไม DW มีทั้งปรับสิทธิและไม่ได้ปรับสิทธิ เบื้องต้นต้องอธิบายเกี่ยวกับการจองซื้อหุ้นซึ่งความแตกต่างกันจะมี 2 แบบคือ การจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทตนเอง กับ การจองซื้อหุ้น IPO ในบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือ

เครื่องหมาย XR จะเป็นการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทตัวเองดังนั้นจะส่งผลต่อราคาหุ้นของบริษัทโดยตรงเนื่องจากราคาและจำนวนหุ้นที่จะมีการเพิ่มทุนส่งผลต่อการ Dilute ของราคาหุ้นปัจจุบันได้

เครื่องหมาย XB จะเป็นการจองซื้อหุ้น IPO ตัวอย่างเช่นการที่ PTT ได้ให้สิทธิจองซื้อหุ้น IPO ของบริษัทลูกได้แก่ PTTOR ดังนั้นราคาหุ้น IPO ของ OR ไม่ได้ส่งผลใดๆต่อราคาหุ้น PTT เนื่องจากเป็นคนละบริษัทกัน

 

เพียงเท่านี้ก็สามารถวางแผนการลงทุนใน DW ได้ง่ายๆ ไม่ว่าหุ้นแม่จะขึ้นเครื่องหมายใดๆ ก็ไม่ต้องกังวลแล้ว แบบนี้ก็ค้นหา DW สเปคดีๆ ได้ที่หน้า Search DW พร้อมเปรียบเทียบสเปคทุกค่ายเพื่อวางแผนการเทรดได้ หรือติดตามข่าวสารต่างๆได้ที่ Line @DW24 เพื่อไม่พลาดทุกการลงทุนใน DW

 

Corporate Action คือ