fbpx

รู้จัก 6 ศัพท์ DW ที่นักลงทุนทุกระดับจำเป็นต้องรู้

July 8, 2022

การลงทุน DW ที่ประสบความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับการจับจังหวะ DW ที่ถูกต้องในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้น แต่นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับ DW ที่ถูกต้องด้วย เพื่อสร้างการลงทุนให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา พร้อมปรับกลยุทธ์เพื่อบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากใครเป็นนักลงทุนมือใหม่ที่ยังไม่เคยลงทุน DW มาก่อน วันนี้เราอยากขอเวลาทุกคนสัก 5 นาทีเพื่อไปทำความรู้จักกับ 6 คำศัพท์สำคัญที่จำเป็นต่อการลงทุน DW กัน แต่จะมีอะไรบ้างนั้น ค่อย ๆ เลื่อนอ่านตามมาดูกันเลย

รู้จัก 6 ศัพท์ DW ที่นักลงทุนต้องรู้

คำที่ 1: Moneyness

จริงอยู่ว่า การซื้อขาย DW จำเป็นต้องพิจารณาตารางราคาเป็นอย่างแรก แต่นอกจากราคาซื้อขายแล้ว นักลงทุนยังต้องรู้จักสถานะ DW ผ่าน Moneyness เพื่อวางแผนและพิจารณาแนวทางการซื้อขายเช่นกัน

โดย Moneyness ของการลงทุน DW คือ มูลค่าที่แท้จริงของ DW ซึ่งจะแสดงให้เห็นจากการเทียบผลต่างระหว่าง “ราคาหลักทรัพย์อ้างอิง” (หุ้นรายตัว หรือ ดัชนีอ้างอิง) กับ “ราคาใช้สิทธิของ DW” โดย Moneyness ของการลงทุน DW นี้จะมีด้วยกัน 3 สถานะ โดยจะประกอบไปด้วย

  1. In-the-Money (ITM)
  • Call DW : กรณีที่ ราคาหลักทรัพย์อ้างอิง มากกว่า ราคาใช้สิทธิ
  • Put DW : กรณีที่ ราคาหลักทรัพย์อ้างอิง น้อยกว่า ราคาใช้สิทธิ

ข้อสังเกต: ในสถานะ ITM มูลค่าของ DW จะสูงกว่า DW ที่มีสถานะ OTM (หาก Spec ของ DW ใกล้เคียงกัน) เนื่องจากจะมีมูลค่าที่แท้จริงเป็นส่วนประกอบของราคาของ DW ด้วย

  1. At-the-Money (ATM)
  • Call DW และ Put DW : กรณีที่ ราคาหลักทรัพย์อ้างอิง เท่ากับ ราคาใช้สิทธิ

ข้อสังเกต: สถานะ ATM ยังส่งผลให้ Time Decay, Effective Gearing และ Sensitivity ของ DW มีค่าที่สูง

  1. Out-of-the-Money (OTM)
  • Call DW : กรณีที่ ราคาหลักทรัพย์อ้างอิง น้อยกว่า ราคาใช้สิทธิ
  • Put DW : กรณีที่ ราคาหลักทรัพย์อ้างอิง มากกว่า ราคาใช้สิทธิ

ข้อสังเกต: ในสถานะ OTM มูลค่าของ DW จะค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับสถานะ ITM ประกอบกับ Spec ของ DW จะดีที่สุดสำหรับการเทรด DW

จากความรู้ทั่วไปของ DW สามารถบอกได้ว่า ส่วนมาก DW ที่มีสถานะ ITM จะมีราคาที่สูงกว่าสถานะ ATM และ OTM ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ดี สถานะ Moneyness ทั้ง 3 นี้เป็นเพียงตัวแปรที่บอกถึงคุณสมบัติพื้นฐานของ DW เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า DW สถานะไหนจะขาดทุน หรือ มีผลตอบแทนที่มากกว่า ดังนั้น นักลงทุนจึงควรพิจารณาความเสี่ยงที่รับไหว ตลอดจนวางแผนการลงทุนที่มีประสิทธิภาพเพื่อบริหารความเสี่ยงควบคู่กันไปด้วย

คำที่ 2: Hedging

นักลงทุนส่วนใหญ่อาจรู้จัก DW ในฐานะการลงทุนที่มีความเสี่ยง แต่รู้หรือไม่? นักลงทุนเองก็สามารถบริหารความเสี่ยงในขณะที่ลงทุนได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการ Hedging นั่นเอง

โดยสำหรับการลงทุน DW แล้ว การ Hedging คือ การป้องกันความเสี่ยงโดยการซื้อขาย DW ซึ่งก็คือ การซื้อ Put DW เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์อ้างอิงขาลง โดยการ Hedging นี้จะเป็นการถัวเฉลี่ยความเสี่ยงจากของหุ้นที่มีอยู่ในพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงและโอกาสขาดทุนจากหุ้นที่ถือไว้

และสำหรับในมุมมองของผู้ออก DW แล้ว การ Hedging จะมีความหมายในการป้องกันความเสี่ยงเช่นเดียวกัน แต่จะแบ่งวิธีการออกเป็น 2 กรณี คือ 

  1. กรณีที่ผู้ออกขาย Call DW : ผู้ออก DW จะเข้าซื้อหลักทรัพย์อ้างอิงเพื่อป้องกันความผันผวนในตลาด
  2. กรณีที่ผู้ออกขาย Put DW : ผู้ออก DW จะทำการชอร์ตหลักทรัพย์อ้างอิงเพื่อป้องกันความผันผวน

จากความรู้ DW ในส่วนนี้ นักลงทุนจึงควรติดตามราคาหลักทรัพย์อ้างอิงเพื่อพิจารณาความผันผวน และจึงวางแผนซื้อ DW ที่เหมาะสมกับสถานการณ์

คำที่ 3: Delta

Delta หรือ เดลต้า คือ ค่าที่บอกถึงการเปลี่ยนแปลงราคาของ DW เมื่อราคาหลักทรัพย์อ้างอิงเปลี่ยนไป 1 บาท โดย Delta สำหรับ Call DW จะมีค่าตั้งแต่ 0 – 100% แต่สำหรับ Put DW จะมีค่าตั้งแต่ 0 จนถึง -100% ซึ่งประโยชน์ของ Delta นั้นไม่ได้อยู่แค่การบอกขนาดการเปลี่ยนแปลงราคา DW ต่อราคาหลักทรัพย์อ้างอิงเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีก 2 ประการหลัก ดังนี้

1. ใช้พิจารณาความเสี่ยงของผู้ออก

DW ที่มีค่า Delta โดยประมาณต่ำกว่า 20% (Deep-out-of-the-money) และสูงกว่า 80% (Deep-in-the-money) จะถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้ ผู้ออกจะทำการลดการขาย DW ตัวนั้น ๆ และทำการออก DW ซีรีส์ใหม่มาเพื่อให้นักลงทุนได้เทรด Spec ที่เหมาะสมตามสภาวะตลาดขณะนั้น  ดังนั้น นักลงทุนสามารถพิจารณาสัญญาณเตือนในส่วนนี้เพื่อวางกลยุทธ์ในการลงทุนต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. ใช้เพื่อตรวจสอบสถานะ DW เบื้องต้น

จากความรู้ DW ในเรื่องของ Moneyness ที่ผ่านมา นอกจากจะเช็กสถานะด้วยตัวเองได้แล้ว นักลงทุนยังสามารถใช้ค่า Delta เพื่อวัดความน่าจะเป็นที่ DW เพื่อให้รู้ว่าจะอยู่ที่สถานะใดในวันหมดอายุ ยกตัวอย่างเช่น หาก DW มีค่า Delta อยู่ที่ 30% ก็จะมีความน่าจะเป็นที่จะหมดอายุในสถานะ ITM 30% และ OTM 70% เป็นต้น

ความรู้ DW ที่จำเป็นต่อการลงทุน

คำที่ 4: Volatility

Volatility หรือ ความผันผวน สำหรับการลงทุน DW คือ ค่าที่สะท้อนความเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์อ้างอิงที่ส่งผลต่อราคา DW ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งความผันผวนทางราคาในการลงทุน DW สามารถให้ความหมายได้ทั้งโอกาสในการสร้างกำไรที่สูงขึ้น และ โอกาสในการขาดทุนที่รุนแรง

สำหรับการปรับใช้ความรู้ DW เรื่องความผันผวนในช่วงการวางแผนลงทุน DW นั้น นักลงทุนควรพิจารณาความผันผวน 2 ประเภท ซึ่งจะประกอบไปด้วย

1. Implied Volatility

ความผันผวนแฝงที่สะท้อนมุมมองของผู้ออก DW ต่อราคาหลักทรัพย์อ้างอิงในอนาคต ซึ่งผู้ออกจะพิจารณาความผันผวนนี้จากการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ในอดีต จากนั้นจึงนำมากำหนดราคา DW ต่อไป ซึ่งค่าความผันผวนแฝงสูง ราคา DW ก็จะยิ่งสูง

2. Historical Volatility

ความผันผวนของราคาหลักทรัพย์อ้างอิงในช่วงระยะเวลาย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ออก DW โดยสามารถกำหนดได้ตั้งแต่ 30 วันไปจนถึง 6 เดือน ซึ่งผู้ออกจะใช้ความผันผวนประเภท Historical Volatility นี้ในการกำหนด Implied Volatility อีกที

คำที่ 5: Premium

Premium หรือ All-in-Premium คือ ค่าที่แสดงให้เห็นถึงจุดคุ้มทุนในการถือ DW จนครบกำหนดอายุ เพื่อนำไปแปลงเป็นสินทรัพย์อ้างอิง หรือเป็นตัวที่บอกว่า เรานั้นซื้อ DW ถูกกว่าหรือแพงกว่าสินทรัพย์อ้างอิงเท่าใด ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเห็นถึงต้นทุนของ DW ในปัจจุบันเพื่อวางแผนสร้างกำไรได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น 

ตัวอย่างเช่น หากตอนนี้ DW มีค่า Premium = 15% ราคาหลักทรัพย์อ้างอิงจะต้องเพิ่มขึ้นอีก 15% ถึงจะอยู่ในจุดคุ้มทุนในการแปลงสภาพ หรือ เปรียบเทียบได้ว่า ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถนำ DW ไปแปลงสภาพจริงก็ตาม แต่เราก็ซื้อแพงกว่าราคาแปลงสภาพถึง 15% 

อย่างไรก็ดี ค่า Premium จะสอดคล้องกับค่า Implied Volatility ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงความถูกแพงของ DW นั่นเอง แต่นอกจากทั้ง 2 ปัจจัยนี้ การซื้อ DW ยังต้องพิจารณาร่วมกับอายุคงเหลือ ค่าเสื่อมเวลา ตลอดจนอัตราทด ดังนั้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด นักลงทุนจึงต้องนำความรู้ DW เรื่อง ปัจจัยที่มาผลต่อราคา DW มาปรับใช้ในการวางแผนด้วย

คำที่ 6: Issuer

Issuer คือ ผู้ออก DW ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว ผู้ออก DW จะต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เท่านั้น 

Issuer หรือ ผู้ออก DW นั้นจะเป็นคนเดียวกันหรือคนละคนกับผู้ดูแลสภาพคล่อง หรือ Market Maker ก็ได้ โดยจะมีความแตกต่างหลัก ๆ คือ ผู้ดูแลสภาพคล่องจะเป็นผู้ดูแลระบบและนักลงทุน โดยการทำหน้าที่วาง Bid-Offer และวางปริมาณ DW ให้เพียงพอต่อการเสนอซื้อและขาย แต่ Issuer จะมีหน้าที่ออก DW และดูแลด้าน Spec ของ DW เป็นต้น 
จบลงไปแล้วกับ 6 ศัพท์พื้นฐาน DW ที่นักลงทุนจำเป็นต้องรู้ในการวางแผนลงทุน DW แต่นอกเหนือจากทั้ง 6 คำศัพท์นี้ นักลงทุนยังจำเป็นที่จะต้องรู้จักความรู้ DW ในด้านอื่น ๆ เพื่อปรับใช้เป็นเทคนิคในการลงทุนได้อย่างรัดกุม อีกทั้งยังต้องอัปเดตข่าวสารต่าง ๆ เพื่อเท่าทันต่อความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ซึ่งนักลงทุนทุกคนสามารถติดตามข่าวสาร และ ความรู้ DW ในส่วนของ DW Article ในเว็บไซต์ของ Dwarrant24.com ได้ตลอดทุกวัน