ราคาพาร์คืออะไร? หลังจากราคาหุ้น DELTA ได้ขึ้นไปทำ All Time High ไปแตะ 996 บาท เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 จากนั้นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 มีการประกาศงบการเงินรอบปี 2565 กำไรเพิ่มขึ้นกว่า 129% เมื่อเทียบกับปี 2564 และจ่ายปันผลที่ 4 บาทต่อหุ้น พร้อมกับประกาศแตกพาร์จาก 1.00 บาท เหลือ 0.10 บาท หรือลดลงกว่า 10 เท่า ดังนั้น DW24 จะพาไปรู้จักกันว่าราคาพาร์คืออะไรและส่งผลต่อ DW อย่างไร
ที่มา: SET
“ราคาพาร์” (Par value) คืออะไร?
ราคาพาร์ คือ ราคาที่บอกถึงทุนเริ่มต้นขอบริษัทนั้นๆ สามารถเข้าใจง่ายๆ คือ “ราคาต้นทุนของหุ้นเมื่อเริ่มต้นบริษัท” ซึ่งความเป็นจริงแล้วราคาพาร์นั้นไม่ได้เป็นเครื่องมือหรือตัวแปรที่บอกว่าหุ้นตัวไหนดีหรือไม่ดี แต่สามารถบอกได้ว่าหุ้นตัวนั้นๆ มีจำนวนหุ้นจดทะเบียนอยู่เท่าไหร่ โดยการคำนวณราคาพาร์เกิดจากทุนจดทะเบียน/จำนวนหุ้นที่จดทะเบียน
ตัวอย่าง บริษัท A มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และมีจำนวนหุ้นทั้งหมด 10 ล้านหุ้น ดังนั้นราคพาร์ของบริษัท A จะเป็น 100 ล้านบาท / 10 ล้านหุ้น หรือเท่ากับ 10 บาทต่อหุ้น
ดังนั้นราคาพาร์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายละเอียดประกอบหุ้นเท่านั้นไม่ได้มีผลต่อการขึ้น-ลงของหุ้นตัวนั้นๆ โดยตรง
แตกพาร์ รวมพาร์ ส่งผลอย่างไรต่อหุ้น?
ราคาพาร์ใช่ว่าจะไม่มีผลต่อราคาหุ้นเลยซะทีเดียว แต่จะมีผลต่อราคาหุ้นในรูปแบบของมูลค่าหุ้นหรือมูลค่าหลักทรัพย์ตัวนั้นๆ เปรียบเทียบมูลค่าเป็นเค้ก 1 ก้อน และราคาพาร์คือขนาดของเค้กแต่ละชิ้นนั่นเอง จากตัวอย่างก่อนหน้าทุนจดทะเบียนบริษัท A คือ 100 ล้านบาท เปรียบเทียบกับเค้กก้อนนี้มีมูลค่า 100 ล้านบาท และจำนวนหุ้นทั้งหมด 10 ล้านหุ้น เทียบได้เป็นการแบ่งจำนวนเค้กก้อนนี้ออกเป็นชิ้นจำนวน 10 ล้านชิ้น ดังนั้นมูลค่าเค้กแต่ละชิ้นเปรียบเทียบเท่ากับราคาพาร์นั้นเอง
ดังนั้นการรวมพาร์หรือแตกพาร์เป็นการบอกว่าต้องการรวมชิ้นเค้กหรือแบ่งชิ้นเค้กเพิ่มขึ้นนั่นเอง หากมีการรวมพาร์หรือรวมชิ้นเค้กก็จะทำให้จำนวนหุ้นลดลงตามจำนวนที่มีการรวมกันส่งผลให้ราคาเค้กแต่ละชิ้นก็จะเพิ่มขึ้น เช่นรวมพาร์จาก 1 บาทเป็น 2 บาท จะส่งผลให้จำนวนหุ้นลดลงไปครึ่งหนึ่งแต่ราคาหุ้นนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเช่นกัน
ในทางกลับกันหากมีการแตกพาร์หรือแบ่งชิ้นเค้กเพิ่มขึ้นจะทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นและราคาหุ้นก็จะลดลงตามสัดส่วนที่มีการแตกพาร์ เช่นแตกพาร์จาก 10 บาทเป็น 1 บาท จะส่งผลให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น 10 เท่า และราคาหุ้นนั้นจะลดลง 10 เท่าเช่นกัน
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ DW
แน่นอนว่าการรวมพาร์หรือแตกพาร์ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยมากนักหลายคนอาจจะกังวลว่าถือ DW ตัวที่กำลังจะแตกพาร์แบบนี้จะมีผลอะไรหรือไม่ ก่อนอื่นก็ต้องบอกว่าทางผู้ออกจะดำเนินการปรับสิทธิให้แก่นักลงทุนที่ถือ DW ที่อ้างอิงบนหุ้นตัวที่กำลังจะแตกพาร์เสมือนว่านักลงทุนได้รับการแตร์พาร์หุ้นไปด้วย เช่น นักลงทุนซื้อ DW ที่อ้างอิงหุ้น DELTA ที่กำลังจะแตกพาร์ 10 เท่า แบบนี้ราคา DW จะเหลือ 0 เลยหรือไม่เพราะจากราคาหุ้น 900 บาทลงมาเหลือ 90 บาทหลังแตกพาร์ ก็ตอบได้เลยว่ามูลค่า DW จะไม่เหลือ 0 อย่างแน่นอนเนื่องจากทางผู้ออกจะดำเนินการปรับสิทธิในส่วนของราคาใช้สิทธิและอัตราการใช้สิทธิลงตามตัวอย่างข้างต้น
ตัวอย่างการปรับสิทธิ DW
ราคาหุ้น DELTA ปิดที่ 976 บาท (ข้อมูลเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 66) หากมีการแตกพาร์จาก 1.00 บาท เหลือ 0.10 บาท (ลดลง 10 เท่า) ในวันถัดไป ราคาหุ้น DELTA จะอยู่ที่ 97.60 บาท หรืออยู่ระหว่าง 97.50 ถึง 97.75 บาท
ในฝั่งของ DW ทางผู้ออกจะมีการปรับราคาใช้สิทธิลง 10 เท่า หากราคาใช้สิทธิเดิมอยู่ที่ 1200 บาท หลังแตกพาร์ราคาใช้สิทธิจะเหลือเท่ากับ 120 บาท
อัตราใช้สิทธิเดิมอยู่ที่ 300 (DW : หุ้นอ้างอิง) หลังแตกพาร์อัตราใช้สิทธิใหม่จะเหลืออยู่ประมาณ 30 (DW : หุ้นอ้างอิง)
ดังนั้นนักลงทุนจึงไม่ต้องกังวลว่าหุ้นมีการแตกพาร์แบบนี้ DW ที่ถือข้ามมาหลังจากแตกพาร์แล้วจะได้รับผลกระทบเพราะทางผู้ออกทุกค่ายจะดำเนินการปรับสิทธิให้กับ DW ที่เกี่ยวข้องและนักลงทุนสามารถทำการซื้อขายได้ปกติ อย่างไรก็ดีนักลงทุนควรดูตารางราคา DW ก่อนทำการซื้อขายทุกครั้งเพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบขณะที่เทรด DW
Post Views: 1,985