มือใหม่ไฟแรงเพิ่งเริ่มเทรดหุ้นไม่ต่างจากการหัดขับรถในสนามแข่ง ทุกครั้งที่เข้าสู่แอพเทรดหุ้นก็จะมีอะดรีนาลีนสูบฉีดพร้อมกดซื้อได้ทุกเมื่อแต่เมื่อถึงทางโค้งอันตรายกลับไม่กล้าเหยียบเบรคชะลอความเร็วสุดท้ายก็ไปต่อไม่ไหวต้องมานั่งเจ็บปวดกับพอร์ตแดงเพราะคำว่าไม่กล้า Cut Loss วันนี้เราจะมาคุยกันถึงประเด็นนี้กัน
Cut loss คืออะไร?
Cut loss คือการที่นักลงทุนต้องการหยุดขาดทุนจากการลงทุนเพื่อป้องกันไม่ให้เงินต้นหายไปมากกว่าจุดที่ยอมรับได้ ซึ่งจุด Cut loss ของแต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้บางคนยอมรับขาดทุนได้ไม่เกิน 5% จากเงินต้น หรือบางคนยอมรับขาดทุนได้ไม่เกิน 10% จากเงินต้น โดยจุด Cut loss ของแต่ละคนไม่มีถูกหรือผิดจึงไม่มีกฎตายตัวว่าเมื่อไหร่ถึงจะหยุดขาดทุน แต่เราจะมาพูดถึงจุดที่เหมาะสมในการหยุดขาดทุนเพื่อเอากำไรคืนได้ไม่ยากกัน
เจ็บน้อยเมื่อ Cut loss เร็ว
หากเราพูดถึงการ Cut loss เป็นเปอร์เซ็นอาจจะมองไม่เห็นภาพดังนั้นเราจะมาดูตารางกันว่าทำไมการ Cut loss เร็วจึงทำให้พอร์ตเราเจ็บน้อยที่สุดกัน
มูลค่าพอร์ตเริ่มต้น 10,000 บาท
% การขาดทุน | เงินคงเหลือ | กำไรที่ต้องทำเพื่อให้เงินต้นเท่าเดิม |
1% | 9,900 บาท | 1.01% |
5% | 9,500 บาท | 5.26% |
10% | 9,000 บาท | 11.11% |
15% | 8,500 บาท | 17.65% |
20% | 8,000 บาท | 25.00% |
30% | 7,000 บาท | 42.86% |
50% | 5,000 บาท | 100.00% |
จากตารางจะเห็นว่าการที่ Cut loss ตอนที่ขาดทุนเยอะๆ การใช้แรงด้วยจำนวนเงินคงเหลือที่จะทำให้เงินต้นกลับคืนมานั้นไม่ง่ายเลย บางคนอาจจะบอกว่าขาดทุนแบบนี้ก็เติมเงินเข้าพอร์ตให้มากขึ้นก็จะใช้แรงน้อยลงแล้ว แต่อย่าลืมว่าการเติมเงินเข้าพอร์ตเพื่อเพิ่มเงินต้นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกจุดสักเท่าไหร่ แต่การแก้ปัญหาคือการตัดไฟแต่ต้นลมโดยการ Cut loss ให้ไวและพอร์ตของคุณจะเติบโตไม่อย่างมั่นคง
เทคนิคในการ Cut loss ที่ใช้ได้จริง
ไม่ว่ามือใหม่หรือมือเก่าสามารถนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้กำหนดจุด Cut loss ได้เพื่อป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตเราไม่ให้ขาดทุนมากเกินจุดที่รับไหว
1. Percentage cut loss
เริ่มต้นจากเทคนิคที่ง่ายที่สุดในการ Cut loss นั่นก็คือกำหนดจุดโดยใช้เปอร์เซ็นต์ขาดทุนที่รับได้ เทคนิคนี้สามารถคำนวณราคาออกมาได้อย่างแน่นอนและสามารถใช้ฟังก์ชันการ Cut Loss ในเครื่องมือเทรดหุ้นบางตัวได้ด้วย เช่น ราคาต้นทุนของหุ้นเราอยู่ที่ 5.80 บาท เรารับความเสี่ยงในการขาดทุนได้แค่ 5% หรือเท่ากับ 0.29 บาท (5.80 x 5%) ดังนั้นจุดที่เราจะต้องตัดสินใจ Cut loss นั่นก็คือ 5.80 – 0.29 บาท หรือ 5.51 บาท การใช้เทคนิคนี้มือใหม่ก็สามารถคุมความเสี่ยงของพอร์ตได้ง่ายไม่ต้องมากังวลว่าจะ Cut loss ที่ราคาเท่าไหร่ดี
2. Technical Cut loss
เทคนิคนี้จะยากขึ้นมาเล็กน้อยนักลงทุนจะต้องมีความรู้ด้าน Technical ต้องดูกราฟและอินดิเคเตอร์เป็นระดับนึง โดยเทคนิคนี้จะใช้วิธีการดู Pattern กราฟเพื่อดูแนวโน้มทิศทางของหุ้นตัวนั้นๆ ประกอบกับอินดิเคเตอร์ที่คอยบอกโมเมนตัมของราคาว่าจะไปต่อหรือราคาจะมีการย่อตัว ดังนั้นเทคนิคนี้จะใช้อินดิเคเตอร์ เช่น Moving Average, EMA เป็นต้น เพื่อใช้เป็นเส้นแนวรับหากราคาหลุดลงมาก็ทำการ Cut loss ออกเนื่องจากทิศทางราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลง
3. Price Cut loss
เทคนิคนี้อาจจะไม่เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้เฝ้าจอมากนักเพราะว่าจำเป็นจะต้องดูความผันผวนระหว่างวันประกอบด้วย โดยการ Cut loss วิธีนี้จะทำการดูราคาหุ้นย้อนหลัง 1-2 สัปดาห์และใช้จุด low ของราคาในช่วงดังกล่าวเป็นจุด Cut loss
นักลงทุนจะเห็นได้ว่าการ Cut loss นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญทุกครั้งในการเทรดหุ้น เปรียบเสมือนการเบรครถเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อพอร์ตการลงทุนของเรานั่นเอง หากใครที่ไม่ต้องการขายหุ้นออกจากพอร์ตเมื่อตลาดลงแรง สามารถคุมความเสี่ยงโดยการใช้ Put DW ได้เช่นกันเพื่อคุมความเสี่ยงในตลาดขาลง หากใครยังไม่รู้จักว่า “DW คืออะไร” สามารถเข้าไปอ่านได้เลย
Post Views: 1,212