fbpx

เจาะลึก!! GDP สำคัญอย่างไรต่อตลาดหุ้น ?

July 21, 2023

เชื่อว่านักลงทุนหลายๆท่าน คงจะรู้จักความหมายของคำว่า GDP กันมาบ้างแล้ว เพราะไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย GDP นั้นก็เป็นมาตรฐานที่ใช้วัดมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลก วันนี้ทีม DW24 จะพาไปเจาะลึกทำความเข้าใจคำว่า GDP ให้ถ่องแท้มากยิ่งขึ้น

GDP คืออะไร ?

Gross Domestic Product (GDP) คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ คำนวณมาจากมูลค่าสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศ ณ ช่วงเวลานั้น หรือถ้าให้เข้าใจง่ายๆ GDP หมายถึง รายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นับรวมไม่ว่าจะเป็นสัญชาติใดก็ตาม แต่หากว่าคนไทยไปอยู่ประเทศอื่นแล้วใช้จ่ายในประเทศนั้นๆ ไม่ถือว่าเป็น GDP ของไทย โดยรายได้ในไทย ได้มาจาก การจับจ่ายใช้สอยในประเทศ การท่องเที่ยว การจ้างงาน เป็นต้น

GDP บอกอะไรได้บ้าง ?

จากข้อมูลข้างต้น GDP เปรียบเสมือนรายได้ของประเทศ สรุปเข้าใจง่ายๆคือ GDP ใช้แทนมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ สามารถบอกได้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าหากอัตราการเติบโตชอง GDP เป็นบวก หมายถึง เศรษฐกิจและการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจในประเทศเติบโตขึ้น แต่ถ้าหากอัตราการเติบโตของ GDP ลดลง นั่นก็หมายถึง เศรษฐกิจและการใช้จ่ายภายในประเทศลดลง โดยการเติบโตของ GDP จะแบ่งออกเป็น 2 กรณีย่อย ดังนี้

  1. Year on Year (YoY) คือ การเทียบ GDP ไตรมาสปัจจุบัน กับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
  2. Quarter on Quarter (QoQ) คือ การเทียบ GDP ไตรมาสปัจจุบัน กับ ไตรมาสก่อนหน้า

GDP คำนวณอย่างไร ?

GDP = C + I + G + (X – M)

C = Consumption คือ การบริโภคของภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป ซึ่งรายจ่ายส่วนนี้สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจได้ดีที่สุด เพราะรายจ่ายส่วนนี้เกิดจากการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งหากว่าค่า Consumption ลดลงอาจสะท้อนได้ถึงเศรษฐกิจที่ถดถอย เพราะคนในประเทศไม่มีกำลังทรัพย์ในการใช้จ่าย

I = Investment การลงทุนของภาคเอกชน ยกตัวอย่างเช่น เงินเดือนพนักงาน การซื้อเครื่องจักร การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้างสำนักงาน เป็นต้น ซึ่งการลงทุนผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น หุ้น กองทุน หรือ ตราสารหนี้ นั้นไม่นับว่าเป็นการลงทุนแบบ Investment เพราะเนื่องจากเป็นการย้ายสินทรัพย์หนึ่งไปยังสินทรัพย์หนึ่งเท่านั้น

G = Government Spending การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งมาจากนโยบายต่างๆของรัฐบาล ยกตัวอย่างเช่น การสร้างถนน การปรับปรุงทางเท้า สร้างรถไฟ อาวุธทางทหาร เรือดำน้ำ รวมไปถึงเงินเดือนข้าราชการ เป็นต้น

X – M = Net Export มูลค่าการส่งออกสุทธิ ซึ่ง X หมายถึง Export และ M หมายถึง Import (X – M) หมายถึงมูลค่าการส่งออกลบมูลค่าการนำเข้า ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้

  1. เกินดุลการค้า (Surplus) คือ มูลค่าส่งออกเป็นบวก มูลค่าการส่งออกมากกว่ามูลค่าการนำเข้า
  2. ขาดดุลการค้า (Deficit) คือ มูลค่าส่งออกเป็นลบ มูลค่าการส่งออกน้อยกว่ามูลค่าการนำเข้า
  3. สมดุลการค้า (Equilibrium) คือ มูลค่าการส่งออกเท่ากับมูลค่าการนำเข้า

GDP สำคัญอย่างไรต่อตลาดหุ้น ?

จะเห็นแล้วว่าค่า GDP เป็นตัวแทนภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การใช้จ่ายอุปโภค บริโภค ของคนในประเทศ การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ เงินเดือนพนักงานรัฐบาล/เอกชน งบและนโยบายต่างๆของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ และเมื่อเทียบค่า GDP กับ SET Index สามารถสรุปได้ดังภาพข้างล่างนี้

GDP

ในช่วงปี 2015 – 2017 เศรษฐกิจในประเทศเติบโตขึ้น ทำให้ค่า GDP ปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลให้ SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน และเมื่อดูจากกราฟตั้งแต่ 2011 จนถึง 2022 พบว่า ค่า GDP และ SET Index ปรับตัวขึ้นและปรับตัวลงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

.

ที่มา : SET, The World Bank