P/BV Ratio |
อัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี |
เป็นอัตราส่วนเปรียบเทียบราคาตลาดของหุ้นสามัญต่อมูลค่าทางบัญชีของหุ้นสามัญ 1 หุ้นตามงบการเงินล่าสุดของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์นั้น อัตราส่วนนี้บอกให้ทราบว่า ราคาหุ้น ณ ขณะนั้น สูงเป็นกี่เท่าของมูลค่าทางบัญชี หากมีค่าสูง ก็แสดงว่าผู้ลงทุนทั่วไปในตลาดคาดหมายว่า บริษัทดังกล่าวมีศักยภาพที่จะเติบโตสูง ขณะเดียวกันก็แสดงถึงระดับความเสี่ยงที่สูงด้วย มีสูตรการคำนวณดังนี้ |
P/E Ratio |
อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิ |
เป็นอัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้นสามัญต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นสามัญที่บริษัทนั้นทำได้ในรอบระยะเวลา 12 เดือนหรือ ในรอบ 1 ปีล่าสุด อัตราส่วนนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ลงทุนยินดีจะลงทุนจ่ายเงินซื้อหุ้นนั้นเป็นกี่เท่าของทุกๆ 1 บาท ของกำไรสุทธิของบริษัท ซึ่งมีสูตรการคำนวณดังนี้ |
Par Value (Face Value) |
มูลค่าที่ตราไว้ |
มูลค่าของหลักทรัพย์ที่ระบุไว้บนใบหุ้น ซึ่งจะเป็นไปตามข้อกำหนดในหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์นั้น มูลค่าที่ตราไว้เป็นข้อมูลที่แสดงให้ทราบถึงมูลค่าเงินลงทุนเริ่มแรกสำหรับหุ้นแต่ละหน่วย ซึ่งจะใช้เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ทางบัญชี และแสดงให้ทราบถึงทุนจดทะเบียนตามกฎหมายของกิจการ |
Position Limit |
การจำกัดสถานะ |
จำนวนสูงสุดของสัญญาฟิวเจอร์สที่ตลาดอนุพันธ์อนุญาตให้ผู้ลงทุนรายหนึ่งถือครองหรือมีสถานะคงค้างได้ ขีดจำกัดเกี่ยวกับการถือครองสัญญาจะป้องกันไม่ให้นักเก็งกำไรถือครองสัญญาในจำนวนมากจนส่งผลต่อราคาในตลาดได้ เช่น ตลาดอนุพันธ์กำหนดให้ผู้ลงทุนมีสถานะใน SET50 Index Futures ได้ไม่เกิน 10,000 สัญญา โดยคิดจากสัญญาซื้อหรือขายเดือนใดเดือนหนึ่ง และสุทธิจากสัญญาซื้อและขายทุกเดือนรวมกัน |
Premium |
|
เปอร์เซ็นต์ที่หุ้นอ้างอิงต้องปรับขึ้น (กรณี Call) หรือ ปรับลง (กรณี Put) เมื่อเทียบกับราคาหุ้นปัจจุบัน เพื่อคำนวณจุดคุ้มทุนกรณีที่ถือ DW จนครบกำหนดอายุเท่านั้น ดังนั้น ค่า Premium จึงไม่ควรใช้สำหรับนักลงทุนที่ต้องการเก็งกำไรบน DW ระยะสั้น และไม่ควรใช้เป็นตัวเปรียบเทียบความแพงหรือถูกของ DW ที่มีราคาใช้สิทธิ และอายุต่างกัน (Implied Volatility จะเหมาะสมกว่าในการเปรียบเทียบ) |
Prospectus |
หนังสือชี้ชวน |
เอกสารที่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์และเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนทั่วไปต้องจัดทำขึ้น เพื่อเปิดเผยข้อมูล รายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทหรือกองทุนรวม และการเสนอขายหลักทรัพย์ให้ผู้ลงทุนทราบ โดยหนังสือชี้ชวนจะต้องแสดงข้อมูลลักษณะธุรกิจของบริษัทหรือกองทุนรวม โครงการในอนาคต การบริหารงาน ผู้บริหารของบริษัท แผนการลงทุน (กรณีกองทุนรวม) ข้อมูลทางการเงิน ผลประกอบการในอดีตและที่คาดการณ์ว่าจะเป็นไปได้ในอนาคต ปัจจัยความเสี่ยง รายการระหว่างกัน ประเภทของหลักทรัพย์ที่เสนอขาย จำนวน มูลค่าที่ตราไว้ ราคาเสนอขาย และวันเวลาที่ให้จองซื้อหลักทรัพย์ ข้อมูลในหนังสือชี้ชวนมีความสำคัญต่อผู้ลงทุน สำหรับใช้ประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์นั้น ทั้งนี้ ร่างหนังสือชี้ชวนของบริษัทต้องผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ก่อนจัดทำเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไป |
Proxy |
ใบมอบฉันทะ |
หนังสือซึ่งผู้ถือหุ้นลงลายมือชื่อมอบฉันทะให้ผู้อื่นใช้สิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นแทนตน |
Public offering |
การเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชน |
การที่บริษัทนำหลักทรัพย์ของตนออกเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป จุดประสงค์เพื่อระดมเงินทุนไปขยายกิจการและเพื่อกระจายการถือครองหลักทรัพย์ให้ประชาชนทั่วไป การเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนจะต้องกระทำผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่รับเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriters) จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. และต้องจัดทำหนังสือชี้ชวนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ |
Public Offering : PO |
การเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชน |
การที่บริษัทมหาชนจำกัดนำหลักทรัพย์เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อระดมเงินทุนไปขยายกิจการ และเพื่อกระจายการถือครองหลักทรัพย์ให้แก่ประชาชน การเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนต้องกระทำผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้ประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriter) รวมทั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน คณะกรรมการ ก.ล.ต. และต้องจัดทำหนังสือชี้ชวนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด |
Put Option |
พุทออปชัน |
สัญญาที่ให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายที่เป็นผู้ซื้อออปชันในการขายสินทรัพย์อ้างอิงให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ตามจำนวน ราคา และภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ |
Put Through : PT |
วิธีซื้อขายแบบแจ้งรายการเข้าสู่ระบบ |
เป็นวิธีซื้อขายหลักทรัพย์แบบหนึ่งที่ใช้ในระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นนายหน้าผู้ซื้อกับบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นนายหน้าผู้ขาย ทำการตกลงซื้อขายหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทนายหน้าผู้ขายก็จะบันทึกรายการซื้อขาย (Put Through: PT) เข้ามาในระบบการซื้อขาย และเมื่อบริษัทนายหน้าผู้ซื้อได้รับรองรายการซื้อขายดังกล่าวในระบบการซื้อขายแล้ว ก็จะถือว่ารายการซื้อขายนั้นมีผลโดยสมบูรณ์ |
Quotation |
ข้อมูลราคาที่เสนอซื้อ - ขาย |
ข้อมูลแสดงราคาเสนอซื้อ - เสนอขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่นักลงทุนต้องการซื้อ / ขายหุ้น ณ ขณะนั้น |
Rights |
สิทธิ์จองซื้อหุ้นออกใหม่ |
มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า Subscription Right เป็นสิทธิที่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์มอบให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ในการที่จะจองซื้อหุ้นสามัญ และ/หรือหุ้นบุริมสิทธิ ที่ออกใหม่จากการเพิ่มทุนของบริษัท ผู้ถือหุ้นจะได้สิทธิตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่ถือครองอยู่ โดยทั่วไปบริษัทมักให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนออกใหม่ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด หรือจองซื้อก่อนบุคคลภายนอก/ผู้เกี่ยวข้องกลุ่มอื่น |
Risk Management |
การจัดการความเสี่ยง |
กระบวนการในการระบุ วิเคราะห์ ประเมิน ดูแล ตรวจสอบ และควบคุมความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับกิจกรรม หน้าที่ และกระบวนการทำงาน เพื่อให้องค์กรสามารถขจัดหรือลดความเสียหายจากความเสี่ยงต่างๆ ให้ได้มากที่สุด |
Secondary Market |
ตลาดรอง |
เป็นตลาดที่ทำหน้าที่เพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ได้ผ่านการซื้อขายในตลาดแรกแล้ว การซื้อขายในตลาดรองเป็นการซื้อขายเพื่อการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น ตลาดรองมีส่วนสนับสนุนตลาดแรกอย่างมาก เพราะตลาดรองช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเงินทุนระหว่างผู้มีเงินออมหรือผู้ลงทุน ดังนั้น ถ้าตลาดรองมีการขยายตัวดี มีประสิทธิภาพก็จะช่วยทำให้ตลาดแรกขยายตัวเช่นกัน ตลาดรองที่สำคัญก็คือ "ตลาดหลักทรัพย์" หรือ "ตลาดหุ้น" ตัวอย่างเช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย |
Sectoral Index |
ดัชนีราคาหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม |
ดัชนีราคาหุ้นของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ดัชนีราคาหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมใดจะใช้ราคาหุ้นสามัญทุกตัวที่จัดอยู่ใน กลุ่มอุตสาหกรรมนั้นในการคำนวณ เช่น ดัชนีราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร คำนวณขึ้นโดยใช้ราคาหุ้นสามัญทุกสถาบันในกลุ่มธนาคาร เป็นต้น ในปัจจุบันนี้ ตลาดหลักทรัพย์จัดหุ้นสามัญจดทะเบียนทั้งหมดกระจายอยู่ใน 30 กลุ่มอุตสาหกรรม และได้คำนวณดัชนี ราคาหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 30 กลุ่ม เป็นรายกลุ่มด้วย |
Securities Lending |
การให้ยืมหลักทรัพย์ |
การโอนหลักทรัพย์ในช่วงระยะเวลาหนี่งจากผู้ให้ยืมไปยังผู้ยืม โดยผู้ยืมตกลงว่าจะโอนหลักทรัพย์ที่ยืมคืนให้กับผู้ให้ยืมเมื่อถึงวันครบกำหนดสัญญา และเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการที่ผู้ยืมไม่สามารถส่งมอบหลักทรัพย์ที่ยืมคืนได้ ผู้ยืมจึงตกลงโอนทรัพย์สินในคราวเดียวกัน เพื่อวางเป็นประกันให้กับผู้ให้ยืม ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเงินสดหรือหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ตามที่คู่สัญญาได้ตกลงกัน โดยผู้ให้ยืมจะคืนทรัพย์สินที่วางเป็นประกันเมื่อได้รับหลักทรัพย์ที่ให้ยืมคืนจากผู้ยืม ในระหว่างที่ยังไม่คืนหลักทรัพย์ หากมีสิทธิประโยชน์ใด ๆ เกิดขึ้น เช่น เงินปันผล สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน เป็นต้นจากบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ผู้ยืมจะต้องชดเชยสิทธิประโยชน์นั้นแก่ผู้ให้ยืม |
Selling Short หรือ Short Sell |
การขายชอร์ต |
การขายหลักทรัพย์ที่ไม่มีอยู่ในครอบครอง เนื่องจากคาดว่าราคาหลักทรัพย์จะลดลง จึงขายไปก่อนที่ราคาปัจจุบัน และจะไปซื้อคืนในภายหลัง โดยผู้ขายชอร์ตต้องยืมหลักทรัพย์จากบุคคลอื่นเพื่อส่งมอบไปก่อน และไปซื้อคืนในภายหลัง เพื่อเอาหลักทรัพย์ไปคืนแก่เจ้าของเดิม สำหรับกำไรหรือขาดทุนจะเกิดตอนซื้อคืน ขึ้นอยู่กับว่าซื้อคืนในราคาสูงหรือต่ำกว่าราคาตอนที่ขายหลังจากหักค่านายหน้าและค่าธรรมเนียม |
Sensitivity |
|
เมื่อราคาหุ้นอ้างอิงเปลี่ยนไป 1 ช่องราคา ราคา DW เปลี่ยนไปกี่ช่องราคา |
SET 50 Index Future |
สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนีเซท 50 |
ดัชนีหุ้นสามัญที่ตลาดหลักทรัพ์จัดทำขึ้น เพื่อใช้แสดงระดับและความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญ 50 ตัวที่มีมูลค่าตลาดสูงและการซื้อขายมีสภาพคล่องสูงอย่างสม่ำเสมอ โดยนำดัชนีหุ้นดังกล่าวมาเป็นสินทรัพย์อ้างอิง ในการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า |
Set 50 Index Options |
ตราสารสิทธิที่อ้างอิงกับดัชนี SET50 |
หมายถึงออปชั่นซึ่งมีสินค้าอ้างอิงเป็น SET50 Index โดย SET50 Index Options กำหนดตัวคูณดัชนีเท่ากับ 200 บาท ต่อ 1 สัญญา ครบกำหนดในเดือนสุดท้ายของแต่ละไตรมาสเหมือนกับ SET50 Index Futures และกำหนดให้ใช้สิทธิได้เฉพาะวันที่สัญญาครบกำหนดเท่านั้น โดยในวันที่ออปชั่นครบกำหนด ผู้ซื้อ SET50 Call Options จะใช้สิทธิและได้รับชำระเงิน หากระดับดัชนี SET50 สูงกว่าราคาใช้สิทธิ ส่วนผู้ซื้อ SET50 Put Options จะได้รับชำระเงิน หากระดับดัชนี SET50 ต่ำกว่า ราคาใช้สิทธิ SET50 Index Options ซื้อขายในบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายผ่านบริษัทโบรกเกอร์ซึ่งเป็นสมาชิกของตลาดอนุพันธ์ |
SET Index |
ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย |
เป็นดัชนีราคาหุ้นที่คำนวณโดยการถัวเฉลี่ยราคาหุ้นสามัญแบบถ่วงน้ำหนักด้วยจำนวนหุ้นจดทะเบียน โดยใช้หุ้นสามัญจดทะเบียนทุกหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีสูตรการคำนวณ ดังนี้ |
SET50 Index |
ดัชนี SET50 |
เป็นดัชนีราคาหุ้นอีกตัวหนึ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำขึ้น เพื่อใช้แสดงระดับและความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญ 50 หลักทรัพย์ ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง และการซื้อขายมีสภาพคล่องอย่างสม่ำเสมอ โดยมีสูตรและวิธีการคำนวณเช่นเดียวกับการคำนวณ SET Index แต่ใช้วันที่ 16 สิงหาคม 2538 เป็นวันฐาน ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการพิจารณาเลือกหุ้นสามัญ 50 หลักทรัพย์ เพื่อใช้ในการคำนวณ SET50 Index ทุกๆ 6 เดือน |
Settle or Settlement Price |
ราคาที่ใช้ชำระราคา |
ราคาที่ใช้ชำระราคา เป็นราคาที่สำนักหักบัญชีใช้ในการปรับมูลค่าให้เป็นไปตามราคาตลาด (Mark-to-Market) โดยการคำนวณกำไรขาดทุนที่จะไปใช้ปรับยอดคงเหลือของผู้ลงทุน ราคาที่ใช้ชำระราคาอาจคำนวณจากราคาสุดท้ายหรือราคาเฉลี่ยของการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์สในช่วงปิดตลาดในวันทำการหนึ่งๆ |
Settlement |
การชำระราคาหลักทรัพย์ |
การจ่ายชำระค่าซื้อ - ขาย หลักทรัพย์ในวันที่กำหนด |
Settlement date |
วันครบกำหนดชำระ |
วันครบกำหนดชำระเงินค่าซื้อ-ขาย หลักทรัพย์ ที่ต้องชำระค่าซื้อ - ขายหลักทรัพย์ ณ วันครบกำหนดชำระ |
Share Depository |
ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ |
หน่วยงานที่ให้บริการเป็นศูนย์กลางรับฝากและถอนหลักทรัพย์ให้สมาชิก รวมทั้งบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่นการโอน และงานทะเบียนผู้ถือหุ้น การทำหน้าที่ดังกล่าวช่วยอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกในการชำระราคา และส่งมอบหลักทรัพย์ที่ซื้อ ขายกัน เนื่องจากสมาชิกทุกรายต่างก็มีบัญชีฝากหุ้นอยู่ที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ การส่งมอบหุ้นที่ซื้อขายกันสามารถ กระทำได้โดย ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ทำการโอนจำนวนหุ้นในบัญชีของสมาชิกผู้ขายไปเข้าบัญชีของสมาชิกผู้ซื้อ ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่ต้องเสียเวลาและมีภาระในการส่งมอบรับมอบใบหุ้นระหว่างกัน สถาบันที่ทำหน้าที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ในประเทศไทย คือ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Thailand Securities Depository Co., Ltd. หรือ TSD ซึ่งเป็นบริษัทลูกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย |
Share Distribution |
การกระจายหุ้น |
การกระจายหุ้นของบริษัทใดบริษัทหนึ่งไปยังผู้ถือหุ้น โดยบริษัทที่มีการกระจายหุ้นที่ดี การขายหุ้นออกจำนวนมากของผู้ถือหุ้นบางราย มักจะไม่กระทบราคาของหุ้นมากนัก |
Short Position |
สถานะขาย |
สถานะในสัญญาฟิวเจอร์สที่เกิดจากการขายสัญญาฟิวเจอร์ส ผู้ที่มีสถานะขายจะได้กำไรหากราคาฟิวเจอร์สมีค่าลดลง |
Short Sell |
การขายชอร์ต |
การขายหุ้นโดยที่ผู้ขายได้ยืมหุ้นนั้นมาจากบริษัทหลักทรัพย์หรือสถาบันที่ให้บริการยืมหุ้น ผู้ขายชอร์ตจะต้องวางเงินประกัน (Margin) ไว้กับบริษัทผู้ให้ยืมหุ้น ในจำนวนไม่ต่ำกว่าอัตราที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด และเงินจากการขายหุ้นดังกล่าวก็ต้องเก็บรักษาไว้ที่บริษัทนายหน้าเพื่อเป็นหลักประกันด้วย จนกว่าผู้ขายชอร์ตจะส่งคืนหุ้นจำนวนที่ยืมไปนั้น ซึ่งจะส่งคืนหุ้น ณ วันที่ถึงกำหนดส่งคืนหุ้น หรือส่งคืนก่อนวันครบกำหนดก็ได้ ในระหว่างที่ยังไม่ส่งคืนหุ้น หากหุ้นนั้นได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ จากบริษัทผู้ออกหุ้น ผู้ขายชอร์ตจะต้องส่งมอบสิทธิต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นแก่บริษัทนายหน้า เพื่อส่งมอบต่อให้ แก่เจ้าของหุ้นที่ให้ยืมอีกทอดหนึ่ง สิทธิต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น การจ่ายเงินปันผล การให้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน เป็นต้น |
Short-term Warrant |
ใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหลักทรัพย์ระยะสั้น |
เป็น Warrant ประเภทที่มีอายุสั้น บริษัทจดทะเบียนที่ต้องการเพิ่มทุนอาจเลือกออกตราสารนี้ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมแทนการให้ Right โดยทั่วไป Warrant ประเภทนี้มักมีอายุไม่เกิน 2 เดือน ผู้ถือสามารถใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญของบริษัทผู้ออกตราสารนี้ ตามอัตราสิทธิให้จองซื้อ ราคา และภายในระยะเวลาที่กำหนดบนตราสาร โดยทั่วไปบริษัทจดทะเบียนมักจะยื่นขอให้ตลาดหลักทรัพย์รับ Short-Term Warrants เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนเพื่อสามารถ ซื้อขายเปลี่ยนความเป็นเจ้าของสิทธิได้ ช่วยให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่ได้ Short-Term Warrants มาแต่ไม่ต้องการใช้สิทธินั้น สามารถขาย ตราสารดังกล่าวให้ผู้อื่นที่ต้องการได้ |
Silent Period |
ช่วงเวลาห้ามขายหุ้น |
ช่วงระยะเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดห้ามผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้เกี่ยวข้องกับผู้บริหารและ/หรือผู้เกี่ยวข้อง กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนใหม่ ในการนำหุ้นบริษัทดังกล่าวที่ตนถือครองอยู่ออกขาย โดยทั่วไปช่วงเวลาห้ามขาย หุ้นจะประมาณ 6 เดือนนับแต่วันแรกที่ให้มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แต่ในบางกรณีอาจจะกำหนดให้นานกว่า 6 เดือนก็ได้ แต่ไม่เกิน 3 ปี |
SP : Suspension |
เครื่องหมายเอสพี |
ย่อมาจาก Suspension เป็นเครื่องหมายที่ตลาดหลักทรัพย์ติดบนหลักทรัพย์เพื่อแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบว่าหลักทรัพย์ดังกล่าว อยู่ในระหว่างถูกห้ามซื้อขายชั่วคราว |
Specific Fund |
กองทุนรวมที่มีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน |
กองทุนรวมที่มีนโยบายในการกระจายการลงทุนน้อยกว่ามาตรฐานการกระจายการลงทุนที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนดสำหรับกองทุนรวมทั่วไป |
Speculate |
การเก็งกำไร |
การที่เข้ามาซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์สเพื่อหวังกำไรจากการที่ราคาฟิวเจอร์สในอนาคตเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ตนคาดคิด |
Speculator |
นักเก็งกำไร |
ผู้ลงทุนที่เข้ามาซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์สเพื่อหวังกำไรจากการที่ราคาฟิวเจอร์สในอนาคตเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ตนคาดคิด เช่น ถ้าคาดว่าราคาฟิวเจอร์สจะสูงขึ้นในอนาคตนักเก็งกำไรจะซื้อสัญญาฟิวเจอร์สแล้วรอการขายในอนาคต เพื่อที่ในอนาคตจะได้กำไรจากส่วนต่างของราคาขายที่สูงกว่าราคาซื้อในตอนแรก แต่ถ้าคาดว่าราคาฟิวเจอร์สจะต่ำลงในอนาคต นักเก็งกำไรจะขายสัญญาฟิวเจอร์สแล้วรอการซื้อในอนาคต |
Split |
การแตกหุ้น |
การแตกหุ้นของบริษัทหนึ่งที่ออกจำหน่ายแล้วให้มีจำนวนมากขึ้น มักจะเกิดขึ้นในกรณีที่ราคาหุ้นขอบริษัทที่ซื้อขายกันในตลาดมีราคาสูง ประกอบกับบริษัทต้องการเงินทุนเพิ่มเพื่อการขยายกิจการ บริษัทจะทำการแตกหุ้น ซึ่งส่วนมากควรจะมีผลให้ราคาตลาดของหุ้นลดลง การซื้อขายจะคล่องตัวขึ้น และเมื่อบริษัทออกหุ้นใหม่เพื่อการเพิ่มทุนก็จะทำได้สะดวกขึ้น ทั้งนี้ การแตกหุ้นจะไม่ทำให้มูลค่ารวมของทุนจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง แต่จะเปลี่ยนเฉพาะจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายและราคาตามบัญชีหุ้นเท่านั้น โดยไม่ทำให้สัดส่วนความเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นเดิมเปลี่ยนไปแต่อย่างใด เช่น บริษัทที่มีหุ้นสามัญ 1,000,000 หุ้น ต้องการจะแบ่งหุ้นในสัดส่วน 3 ต่อ 1 ฉะนั้นจะมีจำนวนหุ้นเปลี่ยนเป็น 3,000,000 หุ้น เป็นต้น |
Spot Market |
ตลาดซื้อขายทันที |
ตลาดสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ตามปกติที่จะมีการตกลงส่งมอบสินค้าและชำระเงินทันที ซึ่งตรงข้ามกับตลาดฟิวเจอร์สที่เป็นการตกลงเพื่อการส่งมอบและชำระเงินในอนาคตเราอาจเรียก Spot market อีกชื่อหนึ่งว่า Cash market |
Spot Price |
ราคาสำหรับการซื้อขายทันที |
ราคาสินทรัพย์ที่ทำการตกลงเพื่อส่งมอบสินค้าและชำระเงินทันที เราอาจเรียก Spot Price อีกชื่อหนึ่งว่า Cash Price |
Spread |
ช่วงราคา |
ส่วนต่างราคาระหว่างราคาเสนอซื้อและราคาเสนอขายของหลักทรัพย์นั้น ๆ |
ST : Stabilization |
เครื่องหมายเอสที ST |
หุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีการซื้อหุ้นเพื่อส่งมอบหุ้นที่จัดสรรเกิน |
Stock Dividend |
การจ่ายหุ้นปันผล |
เป็นวิธีการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นสามัญอีกแบบหนึ่ง ส่วนมากจะกำหนดเป็นอัตราร้อยละของมูลค่าหุ้นสามัญ เช่น จ่ายหุ้นปันผล 10 % หมายความว่าผู้ถือหุ้นเดิมแต่ละคนจะได้รับหุ้นเพิ่ม 10 หุ้นจากหุ้นเดิมที่ถืออยู่ 100 หุ้น ดังนั้นถ้ามีหุ้นสามัญอยู่ทั้งหมด 30 ล้านหุ้น หลังการจ่ายหุ้นปันผล บริษัทจะมีหุ้นสามัญทั้งสิ้น33 ล้านหุ้น การออกหุ้นปันผลไม่มีส่วนกระทบต่อสัดส่วนความเป็นเจ้าของกิจการแต่อย่างใด บริษัทที่จ่ายหุ้นปันผล มักจะมีจุดมุ่งหมายที่จะเก็บเงินสดไว้เพื่อการลงทุน เช่น การจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ใช้ในโรงงานหรือลงทุนในสินค้าคงเหลือและลูกหนี้ เพื่อการขยายตัวของธุรกิจตามแผนที่กำหนดไว้ บริษัทที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมักจะใช้เงินที่ได้จากกำไรสุทธิเพื่อเป็นเงินทุน บริษัทในลักษณะนี้จะไม่จ่ายปันผลเป็นเงินสด แต่จะจ่ายเป็นหุ้นโดยออกหุ้นใหม่ซึ่งมีจำนวนเท่ากับเงินปันผลทั้งสิ้นที่จะจ่าย ผลจากการออกหุ้นใหม่เพื่อมาจ่ายปันผลก็คือ ทำให้จำนวนหุ้นสามัญที่อยู่ในมือผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น แต่ไม่ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงมีการโอนเงินจากบัญชีกำไรสะสมตามราคาตลาดในเวลานั้นไปเข้าบัญชีทุนหุ้นสามัญและส่วนเกินทุน ส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นที่มีอยู่ยังคงเดิม ในกรณีเช่นนี้ ถึงแม้บริษัทจะไม่จ่ายเงินปันผลก็ตาม แต่ว่าเงินส่วนนี้ได้ถูกเก็บไว้เพื่อการลงทุนซึ่งก่อให้เกิดรายได้ต่อไป ผลประโยชน์ที่ได้รับก็คือ ถ้าบริษัทสามารถขยายตัวได้ตามแผน กำไรต่อหุ้นจะสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทในอนาคตสูงขึ้น |
Stock Index |
ดัชนีหุ้นสามัญ |
ตัวเลขหรือดัชนีที่ถูกคำนวณขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามและสะท้อนถึงผลการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ของหุ้นสามัญกลุ่มหนึ่ง เช่น SET50 Index เป็นดัชนีหุ้นสามัญที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของหุ้นสามัญ 50 ตัวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ |
Stock Index Futures |
สัญญาซื้อขายดัชนีราคาหุ้นล่วงหน้า |
สัญญาซื้อขายกลุ่มหุ้นที่เป็นองค์ประกอบในการคำนวณดัชนีราคาหุ้นโดยกำหนดให้ส่งมอบกันในอนาคต ใน Stock Index Futures จะต้องระบุดัชนีราคาหุ้นที่ใช้อ้างอิง มูลค่าของ 1 สัญญาซื้อขาย (หมายถึงตัวคูณที่แปลงค่า 1 หน่วยดัชนี เป็นจำนวนเงิน เช่น ตัวคูณของ S&P 500 Futures เท่ากับ $500 เป็นต้น) เดือนกำหนดส่งมอบ(มักกำหนดเป็นเดือนมี.ค., มิ.ย., ก.ย., และ ธ.ค.) และวิธีการส่งมอบ ซึ่งจะกำหนดให้ส่งมอบกันด้วยเงินสดตามผลต่างของระดับดัชนีที่ซื้อกับที่ขาย (ถ้าเป็นกรณี รอถึงกำหนดส่งมอบจะคิดจากผลต่างของระดับดัชนีที่ซื้อ (หรือที่ขาย) กับระดับดัชนีที่ใช้อ้างอิง ณ วันส่งมอบ) Stock Index Futures เป็นเครื่องมือที่ผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ (ทั้งบุคคลธรรมดาและสถาบัน) และผู้ทำธุรกิจหลักทรัพย์ใช้ปกป้องและบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของภาวะตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ลงทุนมีช่องทางลงทุนเพิ่มขึ้น และช่วยให้กลไกราคาในตลาดหลักทรัพย์สะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากการที่สามารถกระทำ Arbitrage จากผลต่างที่ผิดปกติระหว่างระดับดัชนีในตลาดหลักทรัพย์กับระดับดัชนีในการซื้อขาย Stock Index Futures ซึ่งการทำ Arbitrage จะผลักดันให้ราคาที่ผิดปกติกลับสู่ระดับตามปัจจัยพื้นฐานได้เร็วขึ้น |
Stock Index Options |
ตราสารสิทธิที่จะซื้อหรือขายดัชนีราคาหุ้น |
เป็น Options ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือที่จะซื้อหรือขายกลุ่มหุ้นที่เป็นองค์ประกอบในการคำนวณดัชนีราคาหุ้นกับผู้ขาย Options ในตราสาร Options จะต้องระบุว่าให้สิทธิผู้ถือซื้อ (Call) หรือให้สิทธิขาย (Put) ให้ใช้สิทธิได้ทุกวันหรือให้ใช้สิทธิในวันที่ ครบกำหนด อีกทั้งต้องระบุถึงดัชนีราคาหุ้นที่ใช้อ้างอิง มูลค่าตัวคูณที่ใช้แปลงค่า 1 หน่วยดัชนีเป็นจำนวนเงิน ระดับดัชนีที่ถือเป็น ราคาให้ใช้สิทธิ (Exercise Price) เดือนหมดอายุของตราสาร (มักกำหนดเดือนปัจจุบันและเดือนถัดไปต่อเนื่องกัน 3 ถึง 4 เดือน เป็นต้น) และวิธีการส่งมอบเมื่อมีการใช้สิทธิซึ่งจะให้ส่งมอบเป็นเงินสดตามผลต่างของระดับดัชนีบน ooptions กับระดับดัชนีที่ ใช้อ้างอิง ณ วันใช้สิทธิ Stock Index Options เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์และเกี่ยวข้องกับการลงทุนในหลัก ทรัพย์นิยมใช้ปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของภาวะตลาดหลักทรัพย์ การให้ซื้อขายตราสารนี้ยังเป็นการเพิ่มช่องทางลงทุนในตลาดทุน และสร้างโอกาสให้มีการทำ arbitrage มาช่วยให้กลไกตลาดมีประสิทธิภาพในการสะท้อนปัจจัยพื้นฐานได้ดีขึ้น |
Stock Options |
ตราสารสิทธิที่จะซื้อหรือขายหุ้น |
Options ที่ให้สิทธิผู้ถือที่จะซื้อหรือขายหุ้นสามัญกับผู้ขาย Options ตราสารสิทธิประเภทนี้จะต้องระบุว่าให้สิทธิซื้อ หรือขายหุ้นสามัญบริษัทใด จำนวนเท่าใด ณ ราคาเท่าใด อายุของตราสารสิ้นสุดเดือนใด ให้ผู้ถือใช้สิทธิได้ทุกวันหรือเฉพาะเมื่อวัน ตราสารหมดอายุ และให้ส่งมอบอย่างไรเมื่อมีการใช้สิทธิ การจัดให้มีการซื้อขาย Stock Options จะช่วยให้ผู้ลงทุนมีช่องทางลงทุนที่หลากหลายให้เลือก และยังช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับหุ้นสามัญที่มี Stock Options ไม่ว่าจะในแง่ทำธุรกิจหลักทรัพย์หรือการลงทุนมีเครื่องมือที่จะปกป้องความ เสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้นสามัญตัวนั้น Stock Options ประเภท Call (ประเภทให้สิทธิผู้ถือที่จะซื้อ) ของหุ้นใดมีลักษณะใกล้เคียง Short-Term Warrants ของหุ้นนั้นอย่างมาก จะแตกต่างกันตรงที่ Stock Options มีอายุไม่เกิน 1 ปีและใครจะเป็นผู้ออกก็ได้ แต่ Short-Term Warrants มักมีอายุประมาณ 2 เดือนและบริษัทผู้ออกหุ้นสามัญนั้นเท่านั้นที่เป็นผู้ออกได้ การใช้สิทธิ Stock Options ไม่ก่อให้เกิดหุ้นใหม่แต่ การใช้สิทธิ Short-Term Warrants จะทำให้เกิดหุ้นใหม่ |
Stock Unchanged |
จำนวนหุ้นที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของราคา |
แสดงจำนวนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีการซื้อขายในวันนั้นๆ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงของราคา |
Stop Limit Order |
|
คำสั่งซื้อขายที่ให้การเสนอซื้อขาย ณ ราคาที่ระบุไว้มีผลในระบบซื้อขาย เมื่อราคาตลาดขณะนั้นเคลื่อนไหวมาถึงราคาที่กำหนด |
Stop Order |
|
คำสั่งซื้อขายที่ให้การเสนอซื้อขาย ณ ราคาตลาดมีผลในระบบซื้อขาย เมื่อราคาตลาดขณะนั้นเคลื่อนไหวมาถึงราคาที่กำหนด |
Subscription Date |
วันจองซื้อหุ้น |
วันที่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์กำหนดให้ผู้ลงทุนที่ต้องการซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวยื่นใบจองซื้อและชำระเงินค่าจองซื้อ |
Swap |
สัญญาสวอป |
เป็นสัญญาในการแลกเปลี่ยนบางสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างคู่สัญญา ซึ่งอาจจะเป็นสินทรัพย์หรือตัวแปรทางการเงิน เช่น เงินตราต่างประเทศ หรืออัตราดอกเบี้ย สัญญาสวอปซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ได้แก่ สัญญาสวอปอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Swap) ซึ่งเป็นสัญญาทางการเงินที่คู่สัญญาตกลงที่จะแลกเปลี่ยนภาระการชำระดอกเบี้ยให้แก่กันและกัน ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ และสัญญาสวอปเงินตราต่างประเทศ (Currency Swap) ซึ่งเป็นสัญญาในการแลกเปลี่ยนเงิน ตราสกุลหนึ่งกับเงินอีกสกุลหนึ่งที่อ้างอิงไว้ เป็นต้น |
Technical Analysis |
การวิเคราะห์ทางเทคนิค |
วิธีการวิเคราะห์หลักทรัพย์โดยใช้ระดับราคาหลักทรัพย์และปริมาณการซื้อขายเป็นข้อมูลแสดงเป็นแผนภูมิ (รูป กราฟ) ชนิดต่าง ๆ ให้ทราบถึงรูปแบบการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ในอดีต เพื่อจะใช้กำหนดหรือคาดหมายแนวโน้มของ ราคาในอนาคตของหลักทรัพย์นั้น โดยทั่วไปการวิเคราะห์ทางเทคนิคจะใช้วิเคราะห์เพื่อคาดหมายแนวโน้มในระยะสั้นหรือระยะ ปานกลาง เพื่อใช้ตัดสินใจเลือกจังหวะเวลาในการเข้าซื้อหรือขายหลักทรัพย์ แต่ก็อาจใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อดูการเคลื่อนไหวที่เป็นวัฏจักรระยะยาว (Long-Term Cycle) ได้ด้วย การวิเคราะห์ทางเทคนิคจะต่างจากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ตรงที่ไม่ได้ใช้ข้อมูลฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทผู้ออกหุ้นมาประกอบการวิเคราะห์ |
Tender Offer |
การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ |
การแจ้งแก่ผู้ถือหุ้นทุกรายของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง (โดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลคณะหนึ่ง) ถึงความต้องการที่จะซื้อหุ้น บริษัทดังกล่าวจากผู้ถือหุ้น โดยระบุจำนวนหุ้น ราคา และกำหนดเวลาที่ต้องการรับซื้อไว้ด้วยการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ มักจะเกิดขึ้นโดยผู้ทำคำเสนอซื้อมีวัตถุประสงค์จะเข้าไปบริหารบริษัทดังกล่าว ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับหลักทรัพย์มีข้อกำหนดว่าผู้ที่ถือหุ้นในบริษัทหนึ่งบริษัทใดเพิ่มขึ้นมากถึงเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องทำคำเสนอซื้อ และสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการทำคำเสนอซื้อดังกล่าวด้วย |
Thai NVDR CO., LTD. |
บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด |
เป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2543 เพื่อออกตราสาร NVDR ด้วยทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 10 ล้านบาท โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือหุ้นร้อยละ 99 ของทุนจดทะเบียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งช่วยให้ชาวต่างประเทศลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนได้โดยไม่ติดเรื่องเพดานการถือครองหลักทรัพย์ของชาวต่างชาติ (Foreign Limit) พร้อมทั้งสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงิน เช่น เงินปันผล และสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน เช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ NVDR ยังช่วยขจัดปัญหาของผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศบางประเทศที่ไม่สามารถลงทุนในหน่วยลงทุน ซึ่งรวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว (Thai Trust Fund : TTF) ได้ ทั้งนี้ ผู้ถือ NVDR จะไม่มีสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมของบริษัทจดทะเบียน (Non-Voting Rights) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า NVDR จะออกมาเพื่อส่งเสริมการลงทุนของผู้ลงทุนชาวต่างประเทศ แต่ก็อนุญาตให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนใน NVDR ได้ |
Tick Size |
ช่วงห่างราคาขั้นต่ำ |
ช่วงการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ต่ำที่สุดที่ตลาดอนุพันธ์อนุญาตให้ใช้ในการเสนอราคาเช่น SET50 Index Futures กำหนด Tick Size เท่ากับ 0.10 หมายความว่าราคาฟิวเจอร์สที่เสนอจะต้องเปลี่ยนแปลงไปได้ทีละ 0.1 เช่น หากปัจจุบันสัญญาฟิวเจอร์สที่มีกำหนดส่งมอบในเดือนมิถุนายน มีราคาที่ 520.20 จุด ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงราคาฟิวเจอร์สในอนาคต ราคาที่เปลี่ยนแปลงไปจะต้องเปลี่ยนแปลงไปทีละ 0.1 เช่นอาจมีการเปลี่ยนแปลงลดลงเป็น 520.10 จุด หรือ 520.30 จุด |
Time Decay |
ค่าเสื่อมเวลา |
คือค่าที่บอกว่าเมื่อเวลาผ่านไป 1 วัน ราคา DW จะลดลงกี่เปอร์เซนต์ (เมื่อกําหนดตัวแปรอื่นคงที่ เช่น ราคาหุ้นอ้างอิง) ดังนั้น นักลงทุนที่ชอบถือ DW เป็นระยะเวลานานๆ ควรหลีกเลี่ยงการถือครอง DW ที่มีค่า Time Decay สูง |
Trading Session หรือ Session |
รอบการซื้อขาย |
ช่วงเวลานับตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์เปิดให้มีการซื้อขายจนกระทั่งหยุดการซื้อขาย 1 รอบ ในปัจจุบันนี้ตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดให้มีการซื้อขาย 2 รอบใน 1 วัน คือ รอบการซื้อขายช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 10.00 น. - 12.30 น. และรอบการซื้อขายช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา14.30 น. - 16.30 น. |
Transferable Subscription Rights : TSR |
ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ |
ตราสารทางการเงินประเภทหนึ่งที่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่แต่ละรายถืออยู่ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท โดยผู้ถือหุ้นเดิมที่ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว สามารถขายหรือโอนสิทธิให้แก่ผู้อื่นได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนอื่นได้มีโอกาสและทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเสริมสภาพคล่องให้แก่หุ้นของบริษัท และช่วยให้บริษัทสามารถระดมทุนได้มากขึ้นหรือครบถ้วนตามเป้าหมายที่ต้องการด้วย |
Theta |
|
เรียกอีกอย่างว่า Time Decay เป็นค่าที่แสดงว่ามูลค่าของ DW จะลดลงไปเท่าไรเมื่อเวลาผ่านไป 1 วัน |
Trigger Point |
จุดที่ต้องทำคำเสนอซื้อ |
การที่นิติบุคคลหรือบุคคลใดถือหลักทรัพย์ถึงจุดที่จะต้องทำคำเสนอซื้อคือ 25% 50% และ 75% ของสิทธิออกเสียง นิติบุคคลหรือบุคคลนั้นมีหน้าที่จะต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ |
Turnover |
ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ |
ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ทั้งนี้ อาจรายงานปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นจำนวนหุ้นหรือเป็นจำนวนเงินก็ได้ |
Turnover Ratio |
อัตราการหมุนเวียนการซื้อขาย |
เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดปริมาณการซื้อขายหุ้นเทียบกับปริมาณหุ้นจดทะเบียน (มีหน่วยเป็นร้อยละ) แสดงถึงสภาพคล่องในการซื้อขายของหลักทรัพย์ อัตราส่วนนี้ยิ่งมีค่าสูง ก็ยิ่งแสดงถึงการเคลื่อนไหวของการซื้อขายว่ามีมูลค่าสูงมีสูตรคำนวณดังนี้ |